ยินดีต้อนรับเข้าสู่Blog วิชากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประมงกลุ่มที่ 14

17 December, 2006

กุ้งคุณภาพ

ประเทศไทยเป็นผู้นำในการส่งออกกุ้งกุลาดำเป็นอันดับหนึ่งของโลกในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยมีผลผลิตส่งออกได้ถึงปีละ 250,000 ตัน มูลค่าส่งออกล่าสุดปี 2543 จำนวน 100,000 ล้านบาท โดยปริมาณการส่งออกคิดเป็น 95% ของผลผลิตประเทศ ส่วนอีก 5% เป็นการบริโภคภายในประเทศ สำหรับผลิตภัณฑ์กุ้งกุลาดำที่ส่งออกนั้นจะต้องผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐานข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้าให้เป็นไปตามสากล อาทิ มาตรฐานของ Codex และกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ใน White Paper หรือสมุดปกขาวของสหภาพยุโรปที่ว่าด้วยเรื่องความปลอดภัยของอาหารตลอดสายการผลิต จากฟาร์มจนถึงผู้บริโภค (From Farm to Table)
สำหรับแนวทางผลิตกุ้งคุณภาพของไทย กรมประมงได้ดำเนินการตั้งแต่ปี 2541 ให้มีแนวทางการพัฒนาการผลิตไปใน 2 ลักษณะคือ การพัฒนาการผลิตกุ้งคุณภาพ และ การพัฒนาการผลิตกุ้งอนามัย

การพัฒนาการผลิตกุ้งคุณภาพเป็นการพัฒนาให้มีมาตรฐานตลอดสายการผลิตจากฟาร์มจนถึงผู้บริโภค (From Farm to Table) โดยได้มีการจัดทำมาตรฐาน Code of Conduct (CoC) เริ่มต้นจากผู้ประกอบการโรงเพาะพักกุ้ง ฟาร์มเลี้ยง ผู้ผลิต/ผู้ค้าปัจจัยการผลิต (อาหาร ยาและสารเคมีภัณฑ์) ผู้จัดจำหน่ายกุ้งและผู้แปรรูป ซึ่งเกณฑ์มาตรฐานที่กรมประมงร่วมกับผู้ประกอบการได้พัฒนาโดยพยายามให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล อาทิ มาตรฐานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมหรือ ISO มาตรฐานของ Codex ทั้งยังสอดคล้องกับแม่บทของ FAO เกี่ยวกับ Code of Conduct for Responsible Fisheries ใน บทบัญญัติที่ 9
ในการจัดทำ CoC สำหรับอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้ง ได้มีการจัดทำตัวอย่างการสาธิตทั้งสายการผลิตและสายการตลาด โดยใน สายการผลิต ได้มีการจัดทำฟาร์มนำร่องสาธิตในภาคตะวันออกที่จังหวัดระยองและจันทบุรีและภาคใต้ที่จังหวัดสงขลา และขณะนี้ได้มีการขยายผลฟาร์ม CoC ให้ขยายใน 22 จังหวัดชายฝั่งทะเล พร้อมได้มีการตรวจสอบเพื่อออกใบรับรองให้แก่โรงเพาะฟักฟาร์ม ผู้จัดจำหน่ายกุ้งและโรงงานแปรรูป CoC เพื่อให้สามารถออกตรารับรองผลิตภัณฑ์กุ้ง CoC ที่จัดได้ว่าเป็นกุ้งคุณภาพเป็นกุ้งที่มีคุณลักษณะ 3 ประการ คือ


1. กุ้งที่มีมาตรฐาน
2. กุ้งที่มีคุณภาพและความปลอดภัย
3. กุ้งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

สำหรับการดำเนินการสายการตลาด กรมประมงพยายามสนับสนุนให้มีการสร้างตลาดกุ้งคุณภาพโดยให้มีมูลค่าเพิ่มแก่กุ้งคุณภาพที่ผลิตตามมาตรฐาน CoC โดยในปัจจุบันได้รับการติดต่อจากซุปเปอร์มาเก็ตใหญ่ๆ ในต่างประเทศ อาทิ จากประเทศฝรั่งเศส อังกฤษรวมถึงเครือภัตตาคารในสหภาพยุโรป และบริษัทผู้จัดจำหน่ายรายใหญ่ของสหภาพยุโรปจากประเทศอิตาลีและประเทศเยอรมัน นอกจากนี้กรมประมงยังมีแผนที่จะขอการสนับสนุนส่งเสริมการส่งออกเพื่อช่วยให้มีการแนะนำและขยายตลาด รวมถึงการประชาสัมพันธ์กุ้งคุณภาพของไทยไปยังตลาดโลกให้เป็นที่แพร่หลายมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะมีผลในด้านการตลาดแล้วยังสามารถสร้างความมั่นใจแก่ผู้นำเข้าในต่างประเทศถึงกุ้งคุณภาพที่มีมาตรฐาน มีคุณภาพและความปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
การพัฒนาการผลิตกุ้งอนามัย เป็นการพัฒนาโดยใช้มาตรฐาน Good Aquaculture Practice (GAP) ในการผลิตกุ้งอย่างถูกสุขอนามัยผลผลิตกุ้งที่ได้มีความสดสะอาด ปราศจากยาและสารเคมี ไม่มีการปนเปื้อนของเชื้อโรคและสิ่งสกปรก มาตรฐาน จีเอพี เป็นมาตรฐานที่รองรับการทำฟาร์มเพาะและเลี้ยงกุ้งทะเลอย่างถูกสุขอนามัย เกษตรกรที่สมัครเข้าร่วมโครงการการผลิตกุ้งคุณภาพ แต่ยังไม่สามารถปรับปรุงฟาร์มเพาะและเลี้ยงกุ้งทะเลให้เข้าสู่มาตรฐาน ซีโอซีได้ จึงสามารถพัฒนาฟาร์มเพาะและเลี้ยงกุ้งทะเลให้เข้าสู่มาตรฐาน จีเอพี เนื่องจากมาตรฐาน จีเอพี เป็นมาตรฐานชั้นต้น มีหลักเกณฑ์ที่ง่ายต่อการปฏิบัติ เพื่อพัฒนาให้เข้าสู่มาตรฐาน ซีโอซีต่อไป



No comments: