ยินดีต้อนรับเข้าสู่Blog วิชากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประมงกลุ่มที่ 14

28 December, 2006

การพัฒนาฟาร์มเพาะเลี้ยงกุ้ง



ในอดีตประเทศไทยมีการเลี้ยงกุ้งแบบธรรมชาติ (extensive) บริเวณอ่าวไทยตอนในมีจังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา เพชรบุรี แลชะบริเวณใกล้เคียงต่อมาสามารถเพาะลูกกุ้งทะเลได้ในโรงเพาะฟักผู้เลี้ยงนำลูกกุ้งที่เพาะได้มาปล่อยเสริมใน่อเลี้ยงแบบธรรมชาติที่ปรับให้มีขนาดเล็กลงและเลี้ยงด้วยอาหารเสริมเช่น ปลาสับ รำผสมปลายข้าว เพื่อเป็นการเพิ่มผลผลิตเป็นการเลี้ยงกุ้งแบบกึ่งพัฒนา (semi-intensive) และขยายตัวไปบริเวณภาคใต้ของประเทศ
การเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลแบบพัฒนาได้เริ่มราวประมาณปี พ.ศ. 2529 เป็นต้นมาโดยได้นำเทคโนโลยีการเลี้ยงแบบพัฒนามาจากประเทศไต้หวัน เกษตรกรมีความขยันและมีความคิดดัดแปลงทำให้สามารถปรับปรุงวิธีการเลี้ยงให้เหมาะสมกับภูมิประเทศของประเทศไทยจึงทำให้การเลี้ยงกุ้งแบบพัฒนาเป้นไปอย่างรวดเร็วมีผลตอบแทนสูงระยะเวลาการเลี้ยงสั้นลงประมาณ 4 - 5 เดือนและขยายตัวไปตามจังหวัดชายทะเลของประเทศไทยที่ผ่านมาการขยายตัวของการเลี้ยงกุ้งทะเลแบบพัฒนาทำให้เกิดปัญหาอุปสรรคและผลกระทบสิ่งแวดล้อมตัวอย่างเช่น ราคาผลผลิตตกต่ำ ปัญหาโรคระบาดและน้ำทิ้ง ตะกอนเลนที่ปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมทำให้สภาพแวดล้อมชายฝั่งทะเลเสียหาย กรมประมงได้ทำการแก้ไขปัญหาโดยพัฒนาระบบการจัดการการเลี้ยงกุ้งระบบต่างๆอาทิเช่น การเลี้ยงกุ้งระบบปิด เป็นการจัดการเลี้ยงกุ้งที่เกษตรกรไม่ใช้น้ำแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อเติมเข้ามาในบ่อเลี้ยงกุ้งโดยตรง ภายหลังจากที่ได้ปล่อยกุ้งลงเลี้ยงแล้ว อย่างไรก็ตามเนื่องจากระหว่างการเลี้ยงกุ้งจะมีระเหย หรือการรั่วซึมของน้ำ เกษตรกรอาจจะต้องเติมน้ำลงไปในบ่อบ้างเล็กน้อย เพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำ รักษาระดับน้ำให้อยู่ในระดับเหมาะสมต่อการจัดการเลี้ยงกุ้ง
เทคโนโลยีการเลี้ยงกุ้งระบบชีวภาพ เป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งสำหรับการจัดการเลี้ยงกุ้งในปัจจุบัน โดยเทคโนโลยีนี้เน้นการใช้ประโยชน์จากสิ่งมีชีวิต เช่น จุลินทรีย์ แพลงก์ตอน สาหร่าย หอย ปลา สัตว์ หน้าดิน ในการจัดการย่อยสลาย และควบคุมของเสียจำพวกสารอินทรีย์และธาตุอาหาร ในบ่อเลี้ยงกุ้ง ตั้งแต่เริ่มต้นเลี้ยงไปจนกระทั้งจับกุ้ง เพื่อไม่ให้ของเสียจากการเลี้ยงกุ้งส่งผลต่อการจัดการเลี้ยง จนทำให้เกษตรกรต้องใช้ยาปฏิชีวนะหรือสารเคมีมาแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ
ดินก้นบ่อเลี้ยงเป็นบริเวณที่ถ้าจัดการไม่ถูกต้องมีปัญหาต่อเนื่องถึงการผลิตรอบต่อไปมากที่สุด เพราะหากเราเตรียมดินก้นบ่อเลี้ยงไม่ดีหรือเร่งหลังจากที่เราเติมน้ำลงไปแล้วการจัดการพื้นก้นบ่ออย่างมีประสิทธิภาพจะทำได้ยาก จนกว่าเราจะจับกุ้งอีกครั้งหนึ่ง ดินก้นบ่อหลังจากจับกุ้งเป็นดินที่ขาดออกซิเจน มีสารอินทรีย์ ธาตุอาหารและสารประกอบที่เป็นพิษต่อกุ้งอยู่ในปริมาณสูง ดังนั้น การเตรียมบ่อควรจะต้องพิจารณาวิธีการทำให้หน้าดินที่ขาดอออกซิเจนได้รับออกซิเจนเพิ่มขึ้น เพื่อให้สารประกอบที่เป็นพิษต่อกุ้งสลายตัว และ ปรับสภาพของเลนให้เหมาะต่อการบำบัดสารอินทรีย์ ต้องเร่งให้มีการย่อยสลายของเสียเกิดขึ้นในบ่อ เพื่อลดปริมาณสารอินทรีย์ในเลน
ในปัจจุบันการเลี้ยงกุ้งได้พัฒนาระบบการจัดการให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับทั่วไป ซึ่งผู้เลี้ยงได้พัฒนาตามแบบที่ตนเองเคยใช้อยู่ให้เข้ามาตรฐานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยยึดเทคโนโลยีข้างต้นเป็นแนวทางปฏิบัติ
ระบบปิด
ระบบชีวภาพ
การเตรียมดินและน้ำ

27 December, 2006

เทคโนโลยี



ในอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลมีกระบวนการต่างๆของการผลิตเป็นส่วนๆ ซึ่งประกอบด้วย 2 ส่วนใหญ่ คือ ของต้นสายการผลิตและปลายการผลิต แต่ละส่วนจะมีหน่วยย่อยของการผลิตจึงมีการดำเนินงานที่ต้องอาศัยเทคนิคและเทคโนโลยีในการจัดการเฉพาะทางเพื่อช่วยให้ผลผลิตมีคุณภาพ มีมาตรฐานและปลอดภัยต่อผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรมประมงซึ่งเป็นหน่วยงานตรวจสอบคุณภาพของผลผลิตและผลิตภัณฑ์ได้จัดหาเทคโนโลยีและเทคนิคในการตรวจสอบดังนี้
เทคโนโลยีการเลี้ยงกุ้งระบบปิด เป็นการจัดการเลี้ยงกุ้งที่เกษตรกรไม่ใช้น้ำแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อเติมเข้ามาในบ่อเลี้ยงกุ้งโดยตรง ภายหลังจากที่ได้ปล่อยกุ้งลงเลี้ยงแล้ว เกษตรกรอาจจะต้องเติมน้ำลงไปในบ่อบ้างเล็กน้อย เพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำ รักษาระดับน้ำให้อยู่ในระดับเหมาะสมต่อการจัดการเลี้ยงกุ้ง

เทคโนโลยีการเลี้ยงกุ้งระบบชีวภาพ เป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งสำหรับการจัดการเลี้ยงกุ้งในปัจจุบัน โดยเทคโนโลยีนี้เน้นการใช้ประโยชน์จากสิ่งมีชีวิต เช่น จุลินทรีย์ แพลงก์ตอน สาหร่าย หอย ปลา สัตว์ หน้าดิน ในการจัดการย่อยสลาย และควบคุมของเสียจำพวกสารอินทรีย์และธาตุอาหาร ในบ่อเลี้ยงกุ้ง
การตรวจสอบสารปฏิชีวนะ(Antibiotic)โดยเน้นสารต้องห้ามที่ใช้ในการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ เช่น คลอแรมฟินิคอล กลุ่มไนโตฟูแรน ออกโซลินิก แอซิด และออกซีเตรตร้าซัลคลินมีวิธีการตรวจสอบสารเหล่านี้จะใช้การตรวจสอบทางเคมีโดยใช้เทคนิค - HPLC สำหรับกลุ่มสารออกโซลินิก แอซิด และออกซีเตรตร้าซัลคลิน - ELISA สำหรับกลุ่มสารคลอแรมฟินิคอล - LC-MS-MS สำหรับกลุ่มสารไนโตฟูแรน
เทคโนโลยีการตรวจโรคเช่น PCR ที่นำมาใช้จะช่วยป้องกันตั้งแต่พ่อแม่พันธุ์ที่จะนำมาเพาะลูกกุ้ง เมื่อเราตรวจพบเชื้อไวรัสในพ่อแม่พันธุ์ก็จะไม่นำมาเพาะ ในลูกกุ้งก็เช่นกันถ้าพบเชื้อไวรัสต้องหลีกเลี่ยงที่จะนำมาลงเลี้ยงในบ่อ เช่นเดียงกับในฟาร์มเลี้ยงกุ้งก็ต้องดูแลสุขภาพของกุ้งที่เลี้ยงเมื่อสังเกตุพบเห็นความผิดปกติสามารถนำตัวอย่างกุ้งมาตรวจสอบและวินิจฉัยโรคได้
Test Kits เป็นวิธีการตรวจสอบเบื้องต้นสำหรับตรวจสอบสารปฏิชีวนะในอาหารสัตว์ต่างๆกลุ่มมสารปฏิชีวนะที่ตรวจพบเช่น คลอแรมเฟนิคอล เตตร้าซัยคลิน และไนโตรฟูแรนส์ โดยอาศัยหลักการของการทำปฏิกิริยาระหว่างสารที่ตรวจหากับสารเคมีของชุดทดสอบสารที่ตรวจหาแต่ละชนิดจะแสดงสีที่ต่างกันทำให้เราทราบในเบื้องต้นว่ามีสารปฏิชีวนะผสมอยู่ในอาหาร

25 December, 2006

มาตรฐาน Code of Conduct (CoC)




มาตรฐานโค้ด ออฟ คอนดัค ( Code of Conduct ) หรือ ซีโอซี ( CoC ) สำหรับอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล หมายถึง การจัดระบบการผลิตกุ้งทะเลให้มีมาตรฐานเป็นระบบและการจัดการสิ่งแวดล้อม สำหรับอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลอย่างยั่งยืนตลอดสายการผลิต จากฟาร์มถึงโรงงานแปรรูป เพื่อพัฒนาให้ได้กุ้งคุณภาพกุ้งคุณภาพที่มีลักษณะ 3 ประการ คือ 1. กุ้งที่ได้จากการผลิตอย่างมีมาตรฐาน 2. กุ้งที่มีคุณภาพและความปลอดภัย 3. กุ้งที่ผลิตอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
การก้าวเข้าสู่มาตรฐานซีโอซี
มีข้อปฏิบัติ 11 ประการ (สำหรับโรงเพาะฟักและฟาร์มเลี้ยงกุ้งทะเล)

การเลือกสถานที่
ต้องเป็นที่ถูกต้องตามกฎหมายและอยู่นอกเขตป่าชายเลนไม่อยู่ในอิทธิพลของแหล่งมลภาวะ
การจัดการการเลี้ยงทั่วไปมีการจัดการการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลที่มีประสิทธิภาพตาหลัก
วิชาการ
พ่อแม่พันธุ์ที่นำมาเพาะมีความสมบูรณ์ไม่เป็นพาหะของโรค
ความหนาแน่นการปล่อยลูกกุ้งลงเลี้ยง ควรพิจารณาถึงคุณภาพและอายุของลูกกุ้งที่ปล่อยรวมทั้งพิจารณากำลังการผลิตของบ่อกุ้งที่สามารถรองรับจำนวนลูกกุ้งที่ปล่อยลงเลี้ยงในแต่ละบ่อ
อาหารและการให้อาหารควรเลือกใช้อาหารกุ้งที่มีคุณภาพที่ดีผลิตใหม่และไม่ควรเก็บไว้นานหรือผลิตอาหารธรรมชาติที่เหมาะสม
มีการจัดการการให้อาหารที่มีประสิทธิภาพ
การจัดการสุขภาพกุ้งควรตรวจสุขภาพกุ้งควบคู่กับการตรวจคุณภาพน้ำในบ่อเลี้ยงอยู่เป็นประจำ
ยาและสารเคมีผู้เลี้ยงควรปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมประมงและไม่ควรใช้สารปฏิชีวนะต้องห้าม16ชนิด
น้ำทิ้งและตะกอนเลนควรมีการบำบัดที่มีประสิทธิภาพไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
การลำเลียงลูกกุ้ง
การจับกุ้งและการขนส่งเกษตรกรต้องวางแผนการจับและจำหน่ายอย่างรวดเร็ว
โดยเน้นการรักษาความสดมีการตรวจสารเคมีตกค้างในตัวกุ้งก่อนการจับ
ความรับผิดชอบทางสังคมควรใช้ทรัพยากรท้องถิ่นอย่างประหยัดและส่งเสริมการปลูกป่าชายเลน
เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชนท้องถิ่นและไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม
การรวมกลุ่มและการฝึกอบรมเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการเลี้ยงอย่างสม่ำเสมอ
ระบบการเก็บข้อมูลควรบันทึกข้อมูลด้านการเลี้ยงอย่างสม่ำเสมอเพื่อเป็นข้อมูลในการผลิตรุ่นต่อไป

ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้จัดจำหน่ายกุ้งและโรงงานแปรรูป ซึ่งมาตรฐานของการแปรรูปผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำของโรงงานแปรรูปของไทย ได้ถูกพัฒนาให้เข้าสู่มาตรฐานสากล (CODEX) มาตรฐาน HACCP มาตรฐานด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำของประเทศผู้นำเข้าต่างๆ สำหรับการนำมาพัฒนาสู่มาตรฐาน Code of Conduct ทั้งหมดของส่วนปลายการผลิตนั้น เป็นการเพิ่มเติมมาตรฐานในส่วนการจับกุ้งจากฟาร์มและการขนส่งจากฟาร์มไปสู่โรงงานแปรรูป ซึ่งเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้จัดจำหน่ายกุ้ง โดยมักจะเกี่ยวข้องตั้งแต่การจับกุ้ง การขนส่ง จนถึงการจำหน่ายให้แก่ผู้แปรรูป สำหรับมาตรฐาน Code of Conduct ในส่วนการจับและการขนส่งผลผลิตกุ้งจากฟาร์มกุ้งนี้ กรมประมงได้พัฒนาขึ้นมาจาก 2 มาตรฐานสุขอนามัยการผลิตสัตว์น้ำจากการเพาะเลี้ยง ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่ทั่วโลกยอมรับ

21 December, 2006

มาตรฐานการผลิตกุ้งคุณภาพ


กรมประมงเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ ควบคุมและตรวจสอบการผลิตสัตว์น้ำเพื่อการจำหน่ายและเพื่อการบริโภค เมื่อกุ้งทะเลเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่มีผู้นิยมบริโภคกันอย่างกว้างขวาง จึงต้องมีการควบคุมและตรวจสอบกระบวนการผลิตให้มีมาตรฐานเพื่อให้ได้มาซึ่งผลผลิตกุ้งที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค มาตรฐานของการผลิตกุ้ง คุณภาพสำหรับอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้ง เพื่อความยั่งยืนของไทยจึงได้ถูกพัฒนาขึ้นมาเป็นการผสมผสานแนว มาตรฐานของกรมประมงสำหรับในส่วนของการแปรรูปที่มีอยู่เดิมเป็นส่วนซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานสากล CODEX รวมถึงการจับและการขนส่ง กับมาตรฐาน Code of Conduct ด้วย ในส่วนของฟาร์มนั้นได้มีการจัดทำขึ้นมาใหม่ตาม แนวทางที่สอดคล้องกับมาตรฐาน CODEX และ Code of Conduct ของ FAO
ส่วนของต้นสายการผลิตกุ้งทะเลคือ การเพาะและการเลี้ยงกุ้งทะเล กรมประมงจัดทำมาตรฐานฟาร์มเพาะและเลี้ยงกุ้งทะเล Code of Conduct โดยแยกเป็น 2 ประเภทคือ โรงเพาะฟัก/อนุบาลกุ้งทะเล และฟาร์มเลี้ยงกุ้งทะเล โดยใช้หลักปฏิบัติ 11 ประการ ตั้งแต่การเลือกสถานที่ การจัดการการเลี้ยง อัตราการปล่อยกุ้ง อาหาร สุขภาพกุ้ง ยาและสารเคมี น้ำทิ้งและตะกอนเลน การจับกุ้งและการขนส่ง ความรับผิดชอบต่อสังคม การรวมกลุ่มของเกษตรกร และการจัดเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเพาะเลี้ยง
สำหรับอาหารที่ใช้เลี้ยงกุ้งทะเลนั้น กรมประมงมีการตรวจรับรองคุณภาพอาหารโดยการรับขึ้นทะเบียนอาหารสัตว์น้ำ การออกใบอนุญาตให้ผลิตและนำเข้าอาหารสัตว์น้ำ ทั้งยังมีการสุ่มตรวจสอบอาหารกุ้งจากโรงงาน เพื่อควบคุมให้กระบวนการผลิตคงคุณภาพของอาหารสัตว์น้ำ

เมื่อได้ผลผลิตกุ้งจากต้นสายการผลิตสู่กระบวนการแปรรูปเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์สินค้า โรงงานแปรรูปที่มีมาตรฐานการผลิต จะได้รับการรับรองคุณภาพการผลิต มาตรฐาน HACCP (Hazard Analysis Critical Control Point Principle) ซึ่งโรงงานแปรรูปต้องผ่านการตรวจสอบโดยจะมีการสุ่มเก็บตัวอย่างผลิต ผ่านการวิเคราะห์คุณภาพผลิตภัณฑ์ จนกระทั่งได้รับใบรับรองสินค้าสัตว์น้ำ หากเป็นผลิตภัณฑ์กุ้งเพื่อการส่งออกก็จะมีมาตรฐานการตรวจรับรองสินค้ากุ้งเพื่อการส่งออก
ผลิตภัณฑ์กุ้งที่ต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบเพื่อเป็นสินค้าเพื่อการส่งออกมี 3 ชนิดคือ ผลิตภัณฑ์กุ้งดิบแช่เยือกแข็ง (Frozen Raw Shrimp) ผลิตภัณฑ์กุ้งสดแช่เยือกแข็ง (Frozen Cooked Shrimp) และผลิตภัณฑ์กุ้งเพิ่มมูลค่า ( Frozen Value Added Shrimp Product )
จะเห็นได้ว่ากรมประมงได้ให้การรับรองคุณภาพกุ้งทะเลโดยใช้มาตรฐาน Code of Conduct กำหนดเป็น มาตรฐานการผลิตกุ้งทะเลตลอดสายการผลิต จากฟาร์มจนถึงโรงงานแปรรูปหรือผู้บริโภค (From Farm to Table ) เพื่อให้อุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งในประเทศไทยเกิดความยั่งยืน ทั้งนี้การจัดทำมาตรฐานการผลิตกุ้งคุณภาพ กรมประมงได้ยึดหลักของการผลิตกุ้งเพื่อผู้บริโภคกุ้งปลอดภัย บริโภคกุ้งที่ปราศจากยาและสารเคมีตกค้าง และเน้นการรักษาสภาพแวดล้อมเป็นหลักสำคัญของการกำหนดมาตรฐานการผลิตกุ้งคุณภาพ

20 December, 2006

มาตรฐานฟาร์มเลี้ยง GAP



สภาพทั่วไปของฟาร์มเลี้ยงกุ้งมาตรฐานจีเอพีการผลิตกุ้งทะเลเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพตามมาตรฐานจีเอพี เป็นมาตรฐานชั้นต้นของการพัฒนาคุณภาพการผลิตกุ้งทะเลของประเทศที่มีวัตถุประสงค์หลักคือ การผลิตกุ้งทะเลให้มีคุณภาพปลอดภัยต่อผู้บริโภค ทำให้ถูกสุขลักษณะที่ดีของฟาร์มเลี้ยงกุ้งทะเล ป้องกันการใช้ยาและสารเคมีในการเลี้ยงไม่ให้มีสารตกค้างในผลผลิตกุ้ง

สภาพทั่วไปของฟาร์มเลี้ยงกุ้งมาตรฐานจีเอพี
สภาพทั่วไปของฟาร์ม ที่ตั้งควรอยู่ติดกับแหล่งน้ำ ที่ไม่เป็นแหล่งทิ้งสารมลพิษ ดินที่ดีต้องเป็นดินเดิมไม่มีการกัดเซาะขอบบ่อ มีผังฟาร์มที่เป็นสัดส่วน มีการดูแลความสะอาดอย่าสม่ำเสมอ และต้องไม่มีประวัติของการเกิดน้ำท่วม สิ่งก่อสร้างและโรงเรือนภายในฟาร์ม ต้องมีการแยกพื้นที่ใช้สอยเพื่อการเลี้ยงกุ้งและการอยู่อาศัยให้เป็นสัดส่วนที่ชัดเจน โรงเรือนเก็บอาหารและชั้นวางอุปกรณ์อยู่ในสภาพที่ดี โดยพื้นที่ที่ใช้สำหรับเก็บอาหารนั้นจะต้องมีความสะอาด อากาศถ่ายเทได้ดีไม่อับชื้น ไม่หมักหมม ไม่มีกลิ่นอับและสามารถมองเห็นของที่เก็บได้อย่างชัดเจน
น้ำที่ใช้สำหรับการเพาะเลี้ยงต้องเป็นน้ำที่ได้มาจากแหล่งน้ำที่ห่างจากมลพิษ มีการบำบัดและปรับปรุงคุณภาพน้ำทั้งก่อนใช้ ระหว่างใช้ และหลังใช้ มีระบบการระบายน้ำทิ้ง และน้ำที่ทิ้งจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ใกล้เคียง โดยน้ำทิ้งต้องมีการบำบัด และต้องมีการดูแลความสะอาดของทางระบายน้ำทิ้งเป็นประจำ ไม่ให้มีตะกอนหมักหมมจนเกิดกลิ่นเหม็น ปริมาณน้ำที่ใช้สำหรับการอุปโภคบริโภคภายในฟาร์มต้องมีอย่างพอเพียงและมีความสะอาด สามารถนำไปใช้ได้โดยที่ไม่ต้องมีการบำบัดก่อน การระบายน้ำทิ้งจากบ้านเรือนต้องไม่มีตะกอนหมักหมม และไม่ส่งกลิ่นเหม็น ไม่ไหลลงสู่บ่อเลี้ยงและบ่อพักน้ำ
สำหรับสุขลักษณะ ห้องน้ำห้องสุขาต้องแยกเป็นสัดส่วน และรักษาความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ อยู่ห่างจากบ่อเลี้ยง น้ำที่ระบายออกจากห้องน้ำไม่ลงสู่บ่อน้ำใช้หรือระบบการเลี้ยงกุ้ง ต้องมีถังขยะ มีการเก็บและทำลายขยะและเศษของเหลือเพื่อรักษาความสะอาดของบริเวณฟาร์ม เพื่อป้องกันสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรค
สำหรับวัสดุเครื่องมือและอุปกรณ์ในบ่อเลี้ยง ควรมีอาคารสำหรับเก็บอุปกรณ์ และเครื่องมือฟาร์ม มีการซ่อมแซมและบำรุงรักษาเพื่อป้องกันการเสื่อมสภาพและสามารถนำไปใช้งานได้ทันที โดยเครื่องมือทุกชิ้นต้องมีการทำความสะอาดก่อนและหลังใช้งานเป็นประจำ การจัดการฟาร์มทั่วไป ไม่ใช้ยาชนิดต่างๆที่ทางราชการห้ามใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ไม่มียาตกค้างในกุ้งก่อนจับ มีการจดบันทึกการเลี้ยง การจัดการให้อาหาร การเช็คยอ การใช้ยา และอื่นๆเท่าที่จำเป็น และบริเวณรอบๆบ่อเลี้ยงต้องมีความสะอาด
สภาพทั่วไปของฟาร์มเลี้ยงกุ้งมาตรฐานจีเอพีที่มีความเป็นระเบียบมาตรฐานจีเอพี สำหรับฟาร์มเลี้ยงกุ้งทะเลเป็นการจัดทำมาตรฐานเบื้องต้นในการผลิตกุ้งทะเลที่มีคุณภาพ มีสุขอนามัย และปลอดสารเคมีที่เป็นอันตราย เป็นการทำให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าปลอดภัยต่อสุขภาพ และเป็นการพัฒนาเกษตรกรฟาร์มเลี้ยงกุ้งทะเลที่ผลิตกุ้งคุณภาพให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันซึ่งจะเป็นการง่ายต่อการปรับปรุงมาตรฐานชั้นต่อไป อาทิ มาตรฐาน CoC
สภาพทั่วไปของฟาร์มเลี้ยงกุ้ง
มาตรฐานจีเอพีที่มีความเป็นระเบียบ

19 December, 2006

Code of Conduct


ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา กุ้งทะเลนับเป็นสินค้าเกษตรส่งออกที่สำคัญของประเทศไทยตลาดส่งออกที่สำคัญได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป แคนาดา ซึ่งประเทศผู้นำเข้าเหล่านั้นต่างมีเกณฑ์มาตรฐานการนำเข้าของผลิตภัณฑ์กุ้งทะเล ขณะนี้มาตรฐานดังกล่าวไม่ได้ถูกพิจารณาแค่เพียงระดับกระบวนการแปรรูปผลิตภัณฑ์เท่านั้น แต่พิจารณาตั้งแต่ต้นสายการผลิตเพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้บริโภค
ปัจจุบันไทยยังคงประสบปัญหาในอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลมาโดยตลอด ทั้งในด้านการผลิตและการตลาด ดังนั้น เพื่อให้สามารถส่งออกกุ้งกุลาดำของไทยได้ในตลาดโลกได้อย่างมีมาตรฐาน กรมประมงจึงได้ปรับปรุงการผลิตตลอดสายการผลิตเพื่อให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ โดยในการพัฒนาปรับปรุงการผลิตดังกล่าวนั้น จะต้องพัฒนามาตรฐานให้ครอบคลุมตลอดสายการผลิตทั้งอุตสาหกรรมตั้งแต่โรงเพาะฟัก ฟาร์มเลี้ยงตลอดจน การแปรรูป จนถึงผู้บริโภค ( From Farm to Table) แนวทางการแก้ไขปัญหา กรมประมงซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลรับผิดชอบในการพัฒนาธุรกิจในอุตสาหกรรม การเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล ได้ทำการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน เพื่อความยั่งยืน จึงได้มีการจัดทำระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมหรือ Code of Conduct สำหรับอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลขึ้นมา
สำหรับการดำเนินการในเบื้องต้นตั้งแต่ปี 2541 ธนาคารโลกได้ให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าได้มอบให้บริษัทที่ปรึกษาร่วมกับกรมประมงเป็นแกนกลางในการจัดการหารือ (Consultation) และการสัมมนาเชิงปฏิบัติการหลายครั้งร่วมกับ ผู้ประกอบการ และได้กำหนดกรอบแนวทางของ Code of Conduct สำหรับอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลของไทย ออกเป็น 3 องค์ประกอบ คือ กรอบแนวทาง (Operational Guidelines) และคู่มือ (Manual) สำหรับผู้ประกอบการทุกๆ ฝ่าย ระบบการตรวจสอบ (Certification Process) สำหรับผู้ประกอบการทุกๆ ฝ่าย แรงจูงใจทางด้านการตลาด (Market Incentives) ซึ่งหมายถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มของกุ้งที่ได้จากการผลิตตามแนวทาง Code of Conduct

แนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์กุ้งคุณภาพประเทศไทยได้พัฒนาการผลิตกุ้งคุณภาพโดยดำเนินการในทุกส่วนตั้งแต่ฟาร์มจนถึงผู้ส่งออกและต้องผ่านการตรวจสอบจากผู้ตรวจสอบมาตรฐานของกรมประมงสุดท้ายผู้ส่งออกยื่นขอตรารับรอง คุณภาพจากกรมประมงตามระเบียบกรมประมง ทางด้านมาตรฐานสามารถแยกการพิจารณาได้ 2 ส่วน
ส่วนแรกซึ่งจัดเป็นส่วนการผลิตต้นสายการผลิตในเรื่องของการเพาะเลี้ยงในระดับฟาร์ม เป็นการพัฒนามาตรฐานที่สอดคล้องกับแนวทางการปฏิบัติที่ FAO ได้กำหนดไว้อย่างกว้างๆ ในบทบัญญัติของการทำการประมงอย่างรับผิดชอบ บทบัญญัติที่ 9 ( Code of Conduct for Responsible Fisheries ใน Article 9 ) ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (Aquaculture) โดยกรมประมงได้มีการพัฒนาแนวทาง Code of Conduct ขึ้นมาในเชิงการปฏิบัติให้เป็นไปตามระบบ การจัดการสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ปี 2541
ส่วนที่สองเป็นส่วนปลายสายการผลิตที่เกี่ยวข้องกับผู้จัดจำหน่ายกุ้งและโรงงานแปรรูป ซึ่งมาตรฐานของการแปรรูปผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำของโรงงานแปรรูปของไทย ได้ถูกพัฒนาตั้งแต่ปี 2533 ให้เข้าสู่มาตรฐานสากล (CODEX) และมาตรฐานด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยของประเทศผู้นำเข้าต่างๆ สำหรับการนำมาพัฒนาสู่มาตรฐาน Code of Conduct ทั้งหมดของส่วนปลายการผลิตนั้น เป็นการเพิ่มเติมมาตรฐานในส่วนการจับกุ้งจากฟาร์มและการขนส่งจากฟาร์มไปสู่โรงงานแปรรูป ซึ่งเป็นส่วนมาตรฐานที่ผู้จัดจำหน่ายกุ้งจะต้องรับผิดชอบและสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ สำหรับมาตรฐาน Code of Conduct ในส่วนการจับและการขนส่งผลผลิตกุ้งจากฟาร์มกุ้งนี้ กรมประมงได้พัฒนาขึ้นมาจาก 2 มาตรฐานสุขอนามัยการผลิตสัตว์น้ำจากการเพาะเลี้ยง ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลเช่นกัน
ดังนั้น กล่าวโดยรวมมาตรฐาน Code of Conduct สำหรับอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งเพื่อความยั่งยืนของไทยที่ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาเป็นการผสมผสานแนวมาตรฐานของกรมประมงในส่วนของการแปรรูปที่มีอยู่เดิมซึ่งได้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล CODEX รวมถึงการจับและการขนส่ง กับมาตรฐาน CoC ในส่วนของฟาร์มซึ่งมีการจัดทำขึ้นมาใหม่ตามแนวทางที่จะสอดคล้องกับมาตรฐาน CODEX และ Code of Conduct ของ FAO

17 December, 2006

กุ้งคุณภาพ

ประเทศไทยเป็นผู้นำในการส่งออกกุ้งกุลาดำเป็นอันดับหนึ่งของโลกในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยมีผลผลิตส่งออกได้ถึงปีละ 250,000 ตัน มูลค่าส่งออกล่าสุดปี 2543 จำนวน 100,000 ล้านบาท โดยปริมาณการส่งออกคิดเป็น 95% ของผลผลิตประเทศ ส่วนอีก 5% เป็นการบริโภคภายในประเทศ สำหรับผลิตภัณฑ์กุ้งกุลาดำที่ส่งออกนั้นจะต้องผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐานข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้าให้เป็นไปตามสากล อาทิ มาตรฐานของ Codex และกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ใน White Paper หรือสมุดปกขาวของสหภาพยุโรปที่ว่าด้วยเรื่องความปลอดภัยของอาหารตลอดสายการผลิต จากฟาร์มจนถึงผู้บริโภค (From Farm to Table)
สำหรับแนวทางผลิตกุ้งคุณภาพของไทย กรมประมงได้ดำเนินการตั้งแต่ปี 2541 ให้มีแนวทางการพัฒนาการผลิตไปใน 2 ลักษณะคือ การพัฒนาการผลิตกุ้งคุณภาพ และ การพัฒนาการผลิตกุ้งอนามัย

การพัฒนาการผลิตกุ้งคุณภาพเป็นการพัฒนาให้มีมาตรฐานตลอดสายการผลิตจากฟาร์มจนถึงผู้บริโภค (From Farm to Table) โดยได้มีการจัดทำมาตรฐาน Code of Conduct (CoC) เริ่มต้นจากผู้ประกอบการโรงเพาะพักกุ้ง ฟาร์มเลี้ยง ผู้ผลิต/ผู้ค้าปัจจัยการผลิต (อาหาร ยาและสารเคมีภัณฑ์) ผู้จัดจำหน่ายกุ้งและผู้แปรรูป ซึ่งเกณฑ์มาตรฐานที่กรมประมงร่วมกับผู้ประกอบการได้พัฒนาโดยพยายามให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล อาทิ มาตรฐานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมหรือ ISO มาตรฐานของ Codex ทั้งยังสอดคล้องกับแม่บทของ FAO เกี่ยวกับ Code of Conduct for Responsible Fisheries ใน บทบัญญัติที่ 9
ในการจัดทำ CoC สำหรับอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้ง ได้มีการจัดทำตัวอย่างการสาธิตทั้งสายการผลิตและสายการตลาด โดยใน สายการผลิต ได้มีการจัดทำฟาร์มนำร่องสาธิตในภาคตะวันออกที่จังหวัดระยองและจันทบุรีและภาคใต้ที่จังหวัดสงขลา และขณะนี้ได้มีการขยายผลฟาร์ม CoC ให้ขยายใน 22 จังหวัดชายฝั่งทะเล พร้อมได้มีการตรวจสอบเพื่อออกใบรับรองให้แก่โรงเพาะฟักฟาร์ม ผู้จัดจำหน่ายกุ้งและโรงงานแปรรูป CoC เพื่อให้สามารถออกตรารับรองผลิตภัณฑ์กุ้ง CoC ที่จัดได้ว่าเป็นกุ้งคุณภาพเป็นกุ้งที่มีคุณลักษณะ 3 ประการ คือ


1. กุ้งที่มีมาตรฐาน
2. กุ้งที่มีคุณภาพและความปลอดภัย
3. กุ้งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

สำหรับการดำเนินการสายการตลาด กรมประมงพยายามสนับสนุนให้มีการสร้างตลาดกุ้งคุณภาพโดยให้มีมูลค่าเพิ่มแก่กุ้งคุณภาพที่ผลิตตามมาตรฐาน CoC โดยในปัจจุบันได้รับการติดต่อจากซุปเปอร์มาเก็ตใหญ่ๆ ในต่างประเทศ อาทิ จากประเทศฝรั่งเศส อังกฤษรวมถึงเครือภัตตาคารในสหภาพยุโรป และบริษัทผู้จัดจำหน่ายรายใหญ่ของสหภาพยุโรปจากประเทศอิตาลีและประเทศเยอรมัน นอกจากนี้กรมประมงยังมีแผนที่จะขอการสนับสนุนส่งเสริมการส่งออกเพื่อช่วยให้มีการแนะนำและขยายตลาด รวมถึงการประชาสัมพันธ์กุ้งคุณภาพของไทยไปยังตลาดโลกให้เป็นที่แพร่หลายมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะมีผลในด้านการตลาดแล้วยังสามารถสร้างความมั่นใจแก่ผู้นำเข้าในต่างประเทศถึงกุ้งคุณภาพที่มีมาตรฐาน มีคุณภาพและความปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
การพัฒนาการผลิตกุ้งอนามัย เป็นการพัฒนาโดยใช้มาตรฐาน Good Aquaculture Practice (GAP) ในการผลิตกุ้งอย่างถูกสุขอนามัยผลผลิตกุ้งที่ได้มีความสดสะอาด ปราศจากยาและสารเคมี ไม่มีการปนเปื้อนของเชื้อโรคและสิ่งสกปรก มาตรฐาน จีเอพี เป็นมาตรฐานที่รองรับการทำฟาร์มเพาะและเลี้ยงกุ้งทะเลอย่างถูกสุขอนามัย เกษตรกรที่สมัครเข้าร่วมโครงการการผลิตกุ้งคุณภาพ แต่ยังไม่สามารถปรับปรุงฟาร์มเพาะและเลี้ยงกุ้งทะเลให้เข้าสู่มาตรฐาน ซีโอซีได้ จึงสามารถพัฒนาฟาร์มเพาะและเลี้ยงกุ้งทะเลให้เข้าสู่มาตรฐาน จีเอพี เนื่องจากมาตรฐาน จีเอพี เป็นมาตรฐานชั้นต้น มีหลักเกณฑ์ที่ง่ายต่อการปฏิบัติ เพื่อพัฒนาให้เข้าสู่มาตรฐาน ซีโอซีต่อไป