ยินดีต้อนรับเข้าสู่Blog วิชากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประมงกลุ่มที่ 14

19 December, 2006

Code of Conduct


ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา กุ้งทะเลนับเป็นสินค้าเกษตรส่งออกที่สำคัญของประเทศไทยตลาดส่งออกที่สำคัญได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป แคนาดา ซึ่งประเทศผู้นำเข้าเหล่านั้นต่างมีเกณฑ์มาตรฐานการนำเข้าของผลิตภัณฑ์กุ้งทะเล ขณะนี้มาตรฐานดังกล่าวไม่ได้ถูกพิจารณาแค่เพียงระดับกระบวนการแปรรูปผลิตภัณฑ์เท่านั้น แต่พิจารณาตั้งแต่ต้นสายการผลิตเพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้บริโภค
ปัจจุบันไทยยังคงประสบปัญหาในอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลมาโดยตลอด ทั้งในด้านการผลิตและการตลาด ดังนั้น เพื่อให้สามารถส่งออกกุ้งกุลาดำของไทยได้ในตลาดโลกได้อย่างมีมาตรฐาน กรมประมงจึงได้ปรับปรุงการผลิตตลอดสายการผลิตเพื่อให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ โดยในการพัฒนาปรับปรุงการผลิตดังกล่าวนั้น จะต้องพัฒนามาตรฐานให้ครอบคลุมตลอดสายการผลิตทั้งอุตสาหกรรมตั้งแต่โรงเพาะฟัก ฟาร์มเลี้ยงตลอดจน การแปรรูป จนถึงผู้บริโภค ( From Farm to Table) แนวทางการแก้ไขปัญหา กรมประมงซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลรับผิดชอบในการพัฒนาธุรกิจในอุตสาหกรรม การเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล ได้ทำการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน เพื่อความยั่งยืน จึงได้มีการจัดทำระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมหรือ Code of Conduct สำหรับอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลขึ้นมา
สำหรับการดำเนินการในเบื้องต้นตั้งแต่ปี 2541 ธนาคารโลกได้ให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าได้มอบให้บริษัทที่ปรึกษาร่วมกับกรมประมงเป็นแกนกลางในการจัดการหารือ (Consultation) และการสัมมนาเชิงปฏิบัติการหลายครั้งร่วมกับ ผู้ประกอบการ และได้กำหนดกรอบแนวทางของ Code of Conduct สำหรับอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลของไทย ออกเป็น 3 องค์ประกอบ คือ กรอบแนวทาง (Operational Guidelines) และคู่มือ (Manual) สำหรับผู้ประกอบการทุกๆ ฝ่าย ระบบการตรวจสอบ (Certification Process) สำหรับผู้ประกอบการทุกๆ ฝ่าย แรงจูงใจทางด้านการตลาด (Market Incentives) ซึ่งหมายถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มของกุ้งที่ได้จากการผลิตตามแนวทาง Code of Conduct

แนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์กุ้งคุณภาพประเทศไทยได้พัฒนาการผลิตกุ้งคุณภาพโดยดำเนินการในทุกส่วนตั้งแต่ฟาร์มจนถึงผู้ส่งออกและต้องผ่านการตรวจสอบจากผู้ตรวจสอบมาตรฐานของกรมประมงสุดท้ายผู้ส่งออกยื่นขอตรารับรอง คุณภาพจากกรมประมงตามระเบียบกรมประมง ทางด้านมาตรฐานสามารถแยกการพิจารณาได้ 2 ส่วน
ส่วนแรกซึ่งจัดเป็นส่วนการผลิตต้นสายการผลิตในเรื่องของการเพาะเลี้ยงในระดับฟาร์ม เป็นการพัฒนามาตรฐานที่สอดคล้องกับแนวทางการปฏิบัติที่ FAO ได้กำหนดไว้อย่างกว้างๆ ในบทบัญญัติของการทำการประมงอย่างรับผิดชอบ บทบัญญัติที่ 9 ( Code of Conduct for Responsible Fisheries ใน Article 9 ) ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (Aquaculture) โดยกรมประมงได้มีการพัฒนาแนวทาง Code of Conduct ขึ้นมาในเชิงการปฏิบัติให้เป็นไปตามระบบ การจัดการสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ปี 2541
ส่วนที่สองเป็นส่วนปลายสายการผลิตที่เกี่ยวข้องกับผู้จัดจำหน่ายกุ้งและโรงงานแปรรูป ซึ่งมาตรฐานของการแปรรูปผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำของโรงงานแปรรูปของไทย ได้ถูกพัฒนาตั้งแต่ปี 2533 ให้เข้าสู่มาตรฐานสากล (CODEX) และมาตรฐานด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยของประเทศผู้นำเข้าต่างๆ สำหรับการนำมาพัฒนาสู่มาตรฐาน Code of Conduct ทั้งหมดของส่วนปลายการผลิตนั้น เป็นการเพิ่มเติมมาตรฐานในส่วนการจับกุ้งจากฟาร์มและการขนส่งจากฟาร์มไปสู่โรงงานแปรรูป ซึ่งเป็นส่วนมาตรฐานที่ผู้จัดจำหน่ายกุ้งจะต้องรับผิดชอบและสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ สำหรับมาตรฐาน Code of Conduct ในส่วนการจับและการขนส่งผลผลิตกุ้งจากฟาร์มกุ้งนี้ กรมประมงได้พัฒนาขึ้นมาจาก 2 มาตรฐานสุขอนามัยการผลิตสัตว์น้ำจากการเพาะเลี้ยง ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลเช่นกัน
ดังนั้น กล่าวโดยรวมมาตรฐาน Code of Conduct สำหรับอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งเพื่อความยั่งยืนของไทยที่ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาเป็นการผสมผสานแนวมาตรฐานของกรมประมงในส่วนของการแปรรูปที่มีอยู่เดิมซึ่งได้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล CODEX รวมถึงการจับและการขนส่ง กับมาตรฐาน CoC ในส่วนของฟาร์มซึ่งมีการจัดทำขึ้นมาใหม่ตามแนวทางที่จะสอดคล้องกับมาตรฐาน CODEX และ Code of Conduct ของ FAO

No comments: